การค้นคว้าวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสมัยใหม่

การค้นคว้าวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสมัยใหม่

การศึกษาและการประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งครั้งหนึ่งในสมัยประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เป็นเพียงกิจกรรมส่วนหนึ่งของนักปราชญ์กลุ่มย่อยๆ ในสังคม ได้เปลี่ยนแปลงกลายมาเป็นอาชีพที่หลายคนให้ความเชื่อถือ และใฝ่ฝันที่จะได้เข้าไปมีบทบาทร่วมดำเนินการ ฐานะ และภาพพจน์ของสังคมที่มีต่ออาชีพการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้น ไม่ว่าจะเป็นของนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร หรือ นักเทคโนโลยี ไม่เป็นรองอาชีพใด ๆ ประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ ได้กำหนดนโยบายสนับสนุนงานค้นคว้าวิจัยเป็นอย่างมาก จึงเกิดสถาบันค้นคว้าวิจัยที่มีผู้ทำงานเป็นกลุ่มซึ่งแต่ละคนจะฝึกฝนมาเป็นผู้ชำนาญเฉพาะด้านเฉพาะแขนง งบประมาณสำหรับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น ได้จากงบประมาณแผ่นดิน แหล่งเงินทุน มูลนิธิ และบริษัทอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งให้ในรูปเงินทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัย หรือจัดตั้งห้องปฏิบัติการของตนเองแล้วจ้างนักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรเข้าไปทำงานวิจัย การคิดค้นทฤษฎีและวิธีการประยุกต์จึงเป็นไปอย่างกว้างขวางต่อเนื่องและรวดเร็ว ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่พิมพ์เผยแพร่กันในปัจจุบันและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ มีมากมายจนไม่สามารถที่จะรวบรวมไว้ ณ ที่หนึ่งที่ใดได้หมดสิ้น เนื้อหาความรู้ในแต่ละแขนงวิชาก็มีความลึกซึ้ง และเริ่มขยายขอบเขตไปคาบเกี่ยวกับคน ในบางครั้งไม่อาจจะแยกลงไปอย่างชัดเจนว่าจัดอยู่ในสาขาใดแน่ ตัวอย่างเช่น วิชาชีวเคมี วิชาชีวฟิสิกส์ และวิศวกรรมการแพทย์ เป็นต้น

ในประวัติศาสตร์เกือบจะไม่มีช่วงเวลาใดเลยที่โลกปลอดจากสงคราม สงครามจัดได้ว่าเป็นกิจกรรมร่วมของมนุษยชาติอย่างหนึ่งซึ่งมักใช้เป็นทางออกเมื่อเกิดข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ ความสามารถในการประหัตประหาร ชาติพันธุ์เดียวกันของมนุษย์เหนือกว่าสัตว์ทั้งปวง อาจเป็นเพราะว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในบางช่วงเวลาของประวัติศาสตร์เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพราะมนุษย์ได้ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างทั้งสติปัญญาและทรัพยากรเพื่อพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ ตลอดจนกลวิธีทำลายข้าศึก ตัวอย่างเช่น เห็นได้จากวิวัฒนาการของเครื่องบินรบ ทั้งในแง่ของความเร็วและสมรรถนะ ในมหาสงครามโลกทั้งสองครั้ง ประเทศมหาอำนาจได้ผนึกกำลังนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำเข้ามาทำงานด้วยกันเป็นกลุ่มใหญ่เพื่อพัฒนาและประยุกต์วิธีการประหัตประหารแบบใหม่ ๆ ในมหาสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นั้น จัดได้ว่าเป็นสงครามเคมี เพราะมีการทำลายล้างด้วยระเบิดชนิดต่าง ๆ และแก๊ส ส่วนมหาสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ยุติลงด้วยระเบิดปรมาณูที่ทำลายล้างชีวิตมนุษย์นับแสนคนลงในชั่วพริบตา ผลจากสงครามทำให้เกิดการกระตุ้นเตือนนักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์คิดค้นให้เพิ่มความรับผิดชอบและระมัดระวังในผลงานของตนยิ่งขึ้น บุคคลหลายกลุ่มได้ผนึกตัวขึ้นต่อต้านการทำสงครามด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการเรียกร้องให้ลดกำลังอาวุธ ถึงกระนั้นก็ตามประเทศมหาอำนาจก็ยังเร่งระดมสร้างอาวุธร้ายแรงขึ้นทุกที เช่น ระเบิดไฮโดรเจน ระเบิดนิวตรอน สารพิษ และเชื้อโรค เป็นต้น ซึ่งสงครามครั้งต่อ ๆ ไป อาจหมายถึงอวสานของมนุษย์ก็เป็นได้