ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร

 

อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ แนวโน้มของการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารในอนาคตจะมีหลายปัจจัยที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะแนวโน้มของจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น วิถีการดำเนินชีวิตของคนที่เปลี่ยนแปลงไป การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก การขยายตัวของสังคมเมืองทำให้พื้นที่ในการทำเกษตรกรรมลดลง และการบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตรระหว่างพืชอาหารและพืชพลังงาน

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป แนวทางการศึกษาถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมอาหารที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นจะพิจารณาตามห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม คือ วัตถุดิบ กระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์และฉลาก และสินค้าสำเร็จรูป การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารเชิงสร้างสรรค์จะครอบคลุมทั้งในส่วนของการพัฒนาบุคลากรที่เป็นจุดเริ่มต้นของการคิดริเริ่มสิ่งใหม่ การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า การยกระดับมาตรฐานการผลิตของภาคอุตสาหกรรมให้อยู่ในระดับสากล การพัฒนาระบบโครงสร้างสนับสนุนให้มีความเหมาะสมและสามารถสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ของนักวิจัยพัฒนาสินค้าได้

นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับภาคประชาชนถึงการเลือกบริโภคสินค้าอาหารที่มีคุณภาพและดีต่อสุขภาพ และยังเป็นการพัฒนากลไกทางการตลาดในการขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการปรับปรุงคุณภาพและกระบวนการผลิตให้ได้ตามความต้องการของตลาด รวมถึงยังมีการส่งเสริมให้อาหารไทยเป็นอาหารจานหลักของโลกด้วย ประเทศไทยจะเป็นครัวเอกที่ผลิตและสร้างสรรค์สินค้าอาหารที่ได้มาตรฐานระดับโลกและยกระดับอาหารไทยให้เป็นอาหารจานโปรดคนทั้งโลก

ความได้เปรียบในด้านของรสชาติอาหารที่ได้รับการยอมรับในเวทีโลกเป็นปัจจัยสำคัญ ประกอบกับหากมีการดำเนินนโยบายและโครงการสนับสนุน เพื่อขับเคลื่อนให้อาหารไทยกลายเป็นอาหารจานโปรดของคนทั่วโลกก็เป็นสิ่งที่สามารถจะเป็นจริงได้ในอนาคตอันใกล้นี้ รวมทั้งการผลิตสินค้าอาหารของไทยควรมุ่งหน้าสู่การยกระดับคุณภาพของสินค้าให้มีคุณภาพในระดับสากล มีการพัฒนาให้เกิดความสร้างสรรค์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น และมีความปลอดภัยของอาหาร จะทำให้สินค้าอาหารของไทยเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติ อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกต่อไปได้อย่างยั่งยืน